หน้าแรกข่าวการศึกษาผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2564

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2564

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2564 ในวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีมติที่สำคัญ ดังนี้

      1. เห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

            ตามที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  (ว 6/2563) ต่อมาส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ไปปฏิบัติแล้ว พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) การพิจารณาย้าย 2) การประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย 3) การประกาศรายชื่อสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4) กำหนดการการพิจารณาย้ายครั้งแรก

           ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ในประเด็นที่เป็นปัญหาดังกล่าว ดังนี้

            1. การพิจารณาย้าย เดิมกำหนดให้ย้ายขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ปรับปรุงเป็น ให้พิจารณาย้าย ในสถานศึกษาประเภทเดียวกัน ที่มีสถานศึกษาขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัดพร้อมกันก่อน เมื่อพิจารณาย้ายขนาดเดียวกันและใกล้เคียงกันแล้วเสร็จ หากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ ให้พิจารณาย้ายข้ามขนาดสถานศึกษาได้ โดยต้องพิจารณาย้ายข้ามขนาดตามลำดับ เช่น มีตำแหน่งว่างในสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษเหลืออยู่ ให้พิจารณาย้ายคำร้องขอย้ายของผู้ประสงค์ขอย้ายที่ดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาขนาดกลางก่อนขนาดเล็ก ตามลำดับ และหากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่อีก ให้ กศจ. พิจารณาย้ายผู้ประสงค์ขอย้ายที่ดำรงตำแหน่ง ในสถานศึกษา ที่ต่างประเภทสถานศึกษากันได้

            2. การประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย เดิมกำหนดให้ อกศจ. เป็นผู้ประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ปรับปรุงเป็น  ให้ ผอ.สพท. ทุกเขตในจังหวัด และ ศธจ. ตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพ ผู้ประสงค์ขอย้ายและจัดลำดับ ก่อนเสนอ อกศจ. กลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องแล้วเสนอ กศจ. พิจารณาย้ายต่อไป

            3. การประกาศรายชื่อสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เดิมกำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา ที่ประสงค์จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือส่วนราชการอื่น แล้วแต่กรณี ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15วัน ปรับปรุงเป็น กำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา โดยตัด “ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน” ออก

           4. กำหนดการการพิจารณาย้ายครั้งแรก เดิมกำหนดให้พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 25 ตุลาคม ปรับปรุงเป็น ให้ กศจ. พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน และให้มีผลไม่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปีเดียวกัน ทั้งนี้ ได้ปรับระยะเวลาการยื่นคำร้องขอย้ายเป็นวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ และการนับคุณสมบัติของผู้ประสงค์ขอย้าย ให้นับถึง 30กันยายน ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ (PA)

         ทั้งนี้ จะได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรับปรุงเรียบร้อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติต่อไป

     2. อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ 

        สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 จึงยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2553 และ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2554 และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ จำนวน 62 เขต

       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาขออนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด ตามจำนวนและตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม จำนวน 24 เขต จำนวน 593 อัตรา และกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานในระยะแรก จำนวน 38 เขต จำนวน 488 อัตรา รวมถึงขออนุมัติตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ที่ว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ที่มิใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ ไปกำหนดเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 20 อัตรา และตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน  22 อัตรา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่

        ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ ทั้ง 62 เขต ในครั้งนี้ เป็นการขอกำหนดกรอบอัตรากำลังฯ (ชั่วคราว) ซึ่งอัตรากำลังในแต่ละตำแหน่งเป็นการปรับอัตรากำลังมาจากกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 เขต ไม่ได้เป็นการเพิ่มอัตรากำลังและไม่เพิ่มงบประมาณ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทางราชการจึงพิจารณาอนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้           1. กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชั่วคราว) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ จำนวน 62 เขต รวม 1,081 อัตราประกอบด้วย

  • ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 62อัตรา
  • ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 148 อัตรา
  • ตำแหน่งศึกษานิเทศก์จำนวน 871อัตรา 

ทั้งนี้ ให้ใช้กรอบอัตรากำลังนี้ เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งมติ เมื่อครบกำหนดแล้วให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ ก.ค.ศ.เพื่อขอทบทวนกรอบอัตรากำลังตามภาระงานต่อไป

        2. กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานในระยะแรกจำนวน 38 เขต จำนวน 488 อัตรา

              1) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 62 อัตราแบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเดิม จำนวน 42 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ จำนวน 20 อัตรา โดยให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ และมีอัตราเงินเดือนมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 1”

             2) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 148 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเดิม 24 เขต ๆ ละ 3 อัตรา จำนวน 72 อัตรา และ 18 เขต ๆ ละ 2 อัตรา จำนวน 36 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ ๒๐ เขต ๆ ละ 2 อัตรา จำนวน 40 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ปริมาณงานลดลงหรือตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน จากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการและมีอัตราเงินเดือนมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 2 3 และ 4 ” แล้วแต่กรณี

            3) ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ จำนวน 871 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เดิม 24 เขต ๆ ละ 19 – 24 อัตรา จำนวน 497 อัตรา และ 18 เขต ๆ ละ 7- 21 อัตรา จำนวน 201 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ 20 เขต ๆ ละ 7 – 12 อัตรา จำนวน 173 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ปริมาณงานลดลงมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้กำหนดเป็นตำแหน่งเลขที่เดิม

           ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำรายละเอียดการกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามกรอบอัตรากำลังฯ ทั้ง 1,081 อัตรา เสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณากำหนดตำแหน่งฯ ต่อไป 

     3. เห็นชอบ การปรับปรุงแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต กำหนดกรณีผู้สอบแข่งขันหรือผู้สมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย

         สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 7 ลงวันที่ 18 เมษายน 2556 ระบุว่า “กรณีหลักฐานการศึกษามิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่าง  จากประกาศรับสมัคร ให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมด” ดังนี้

         1) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ต้องศึกษาเนื้อหาวิชานั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

        2) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 ปี หลักสูตรต่อเนื่อง ต้องศึกษาเนื้อหาวิชานั้น ๆ ในระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต และในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ได้ไม่เกิน 10 หน่วยกิต รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

        ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าแนวปฏิบัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณวุฒิและสาขาวิชาเอกแตกต่างจากการประกาศรับสมัคร สามารถนับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมดได้ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคุณวุฒิ ทุกสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ. รับรอง สามารถนำหน่วยกิตในคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่แตกต่างไป นำมาใช้สมัครเพื่อสอบแข่งขันหรือคัดเลือกได้ จึงส่งผลให้สถานศึกษาได้ครูในสาขาวิชาที่ไม่ตรงตามความจำเป็น และความต้องการอย่างแท้จริง ดังนั้น การนับหน่วยกิตควรใช้เฉพาะกรณีที่หลักฐานการศึกษาที่ผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกนำมาใช้สมัคร ไม่ได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถานศึกษาได้ครูตรงกับความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษาและเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต จาก เดิม ที่กำหนดว่า “หากหลักฐานการศึกษามิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่างจากประกาศรับสมัครให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมด” ปรับปรุงเป็น“กรณีหลักฐานการศึกษา ซึ่งผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย นำมาใช้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกมิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกพิจารณาและดำเนินการนับจำนวนหน่วยกิตรายวิชาที่ศึกษา ที่ตรงกับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ประกาศรับสมัครจากหลักฐานการศึกษา (Transcript)” โดยสาระสำคัญของการนับหน่วยกิต 1) และ 2) ให้คงเดิม

    4.  เห็นชอบ หลักการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของส่วนราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สามารถนำผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

        สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในทุกจังหวัดของประเทศไทย และปัจจุบันยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียน การสอนของสถานศึกษา ทำให้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ นั้น ซึ่งปัจจุบันอัตราการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัวในแต่ละจังหวัด รวมทั้งบุคลากรที่ช่วยสนับสนุนทางการแพทย์หรืออำนวยความสะดวกจะมีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าแต่ละจังหวัดอาจมีการขอรับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานการศึกษา เช่น อาคารสถานที่ หรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจต้องปฏิบัติงานนอกเหนือจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษา

        ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีจิตสาธารณะและมีความตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ประกอบกับ ก.ค.ศ. เคยมีมติเห็นชอบให้นำผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประสบผลสำเร็จ และผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาและชุมชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติม ตาม ว 6/2555 จึงเห็นควรให้สิทธิประโยชน์ แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานได้ และมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา https://otepc.go.th/th/content_page/item/3352-4-2564-2.html

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

บทความยอดนิยม

บทความล่าสุด