เน้นทำงานร่วมกัน นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสการเรียนรู้ ควบคู่ความปลอดภัย เปิด Web Portal ศธ. เป็นแหล่งเรียนรู้กลาง นำร่อง 11 วันก่อนเปิดเทอม หนุนเรียนรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานความสมัครใจ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก ร่วมแถลงข่าว “ศธ.รวมพลังจัดการศึกษาปลอดภัยใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม” ณ ห้องประชุมจันทรเกษม
ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัด เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกสามยังมีความรุนแรงนั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของบุตร หลาน ศธ. จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง ซึ่ง ศธ.จะจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูในการจัดกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องสถานการณ์โควิดเป็นลำดับแรก
ระยะที่สอง ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ
On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค.
On-air เรียนผ่าน DLTV
On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต
On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนที่โรงเรียน หรือ On-site
“การจัดการศึกษาภายใต้วิกฤตโควิด -19 ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ภาคเอกชน และผู้ปกครอง จะทำงานร่วมกัน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมครูและนักเรียน จะมีทั้งแบบ On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และแบบ Off-line เรียนที่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกให้แต่ละโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยเป็นกิจกรรมที่นักเรียนและผู้ปกครองสมัครใจ ไม่มีการให้คะแนนผ่าน/ไม่ผ่าน การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งดิฉันขอเน้นย้ำว่า นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร
การจัดกิจกรรมแบบ On-line นั้น ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำ Web Portal ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบ Off-line นั้น สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค. จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัย และที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
กระทรวงศึกษาธิการมีความมั่นใจ รับประกันได้ว่า เมื่อเปิดเทอมแล้ว เด็กทุกคนของเรา จะได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
12/5/2564
ที่มา : เพจ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.