หน้าแรกข่าวการศึกษา15 มี.ค. นี้ คุรุสภาเริ่มใช้ข้อบังคับใหม่ "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" 3 ระดับ P-B-A license

15 มี.ค. นี้ คุรุสภาเริ่มใช้ข้อบังคับใหม่ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” 3 ระดับ P-B-A license

กระทรวงศึกษาธิการ โดย #คุรุสภา แจ้งข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ซึ่งได้กำหนดให้มี #ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 4 ประเภท คือ 1) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา 3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และ 4) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามข้อบังคับใหม่ จะเป็นใบอนุญาตที่บ่งบอกถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของครู และให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License) หรือ P-License มีอายุ 2 ปี 2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License) หรือ B-License มีอายุ 5 ปี และ 3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License) หรือ A-License มีอายุ 7 ปี

สำหรับผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู P-License ต้องเป็นผู้จบการศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรอง โดยเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ดังนั้น เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาทุกคนจะได้ P-License โดยไม่ต้องสอบและสามารถนำ P-license ไปใช้ประกอบการทำงาน และไปสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ ส่วนการจะรับ B-License ต้องเป็นผู้จบการศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูครบตามที่คุรุสภากำหนด สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูฉบับเดิม ก็ใช้ใบอนุญาตฉบับเดิมจนกว่าจะหมดอายุ และเมื่อต่อใบอนุญาตจะได้ B-License

ส่วนการจะรับ A-License ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระดับ B-License หรือฉบับเดิมอยู่แล้ว และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของคุรุสภา ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

ที่มา : https://www.ksp.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

บทความยอดนิยม

บทความล่าสุด