หน้าแรกข่าวการศึกษา“ตรีนุช” ร่วมซีมีโอ (Southeast Asian Ministers of Education Organization : SEAMEO) ประกาศจุดยืนพัฒนาเยาวชนยุคอัลฟ่า

“ตรีนุช” ร่วมซีมีโอ (Southeast Asian Ministers of Education Organization : SEAMEO) ประกาศจุดยืนพัฒนาเยาวชนยุคอัลฟ่า

รมว.ศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง” ร่วมถกวาระอนาคตประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2030 เสริมสร้างสมรรถนะของเยาวชนในยุคอัลฟ่า ไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพลิกโฉมระบบการศึกษา ฝ่าวิกฤตโควิด 19

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม SEAMEO Congress 2021 หัวข้อ“Transforming Southeast Asian Education, Science and Culture in the Digital Age” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอ (SEAMEO) เมื่อเร็ว ๆ นี้

ตนได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงความท้าทายของโลกในยุค VUCA ได้แก่ Volatility – ความผันผวนสูง, Uncertainty – ความไม่แน่นอนสูง, Complexity – ความซับซ้อน และ Ambiguity – ความคลุมเครือ ที่มีการผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ที่ก่อให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยมีความเป็นไปได้ในการนำ AI มาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ และเพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานและมีความยั่งยืน เราต้องร่วมมือกันในการสำรวจทิศทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

อีกทั้งโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการศึกษา และเป็นอุปสรรคต่อนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาแสวงหาแนวทางที่จะส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสร้างความตระหนักรู้เพื่อนำไปสู่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ตนยังได้กล่าวในการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 5 หัวข้อ “Southeast Asian Education and Future’s Agenda” ถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม ซึ่งเป็นวาระอนาคตของประเทศสมาชิกซีมีโอเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วยว่า ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเน้นผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา หรือ Student Centricity โดย ศธ.มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางที่เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ทำ และเกิดการเรียนรู้พร้อมนำไปปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนในรายวิชาประวัติศาสตร์ไทยและหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีทักษะความเป็นพลเมืองโลก ตลอดจนพัฒนาด้านอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับเยาวชนในการหารายได้เลี้ยงชีพ สามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันกับผู้อื่นได้ในระดับโลก

“ได้มีการพูดถึงการพลิกโฉมระบบการศึกษาของไทย โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยเอื้อต่อการออกแบบการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทุกระดับ ซึ่งการศึกษาทางไกล ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เปรียบเสมือนเวทีแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะดิจิทัลในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ที่เน้นให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาจากหลากหลายแง่มุม ซึ่งจะเป็นการยกระดับทักษะการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้ ศธ.ได้มุ่งเสริมสร้างศักยภาพครูด้านทักษะภาษาและทักษะดิจิทัล โดยคัดเลือกครูแกนนำที่มีทักษะคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับดี เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูในเรื่องการรู้ดิจิทัลแล้ว”

ขอชื่นชมการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ภายใต้ข้อริเริ่มโครงการ SEAMEO CARES และแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของซีมีโอ (ปี 2564-2573) ซึ่งเน้นย้ำถึงการดำเนินข้อพันธกิจร่วมกันของประเทศสมาชิกซีมีโอในการปรับรูปแบบการพัฒนาของภูมิภาคให้ปรากฎเป็นจริงขึ้นมาได้ในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนด้านการศึกษาในชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal in Education โดยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างครอบคลุมและเติบโตเป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ หากมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะไม่ใช่อุปสรรคต่อการพัฒนา แต่จะช่วยให้เกิดมิติใหม่ทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เสริมสร้างสมรรถนะของเยาวชนและผู้เรียนในยุคอัลฟ่า (Alpha Generation Learners) ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และแน่นอนว่า การลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องนั้น สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอนาคตของผู้เรียนในยุคอัลฟ่า และขอให้มั่นใจว่า ผู้เรียนจะต้องได้กลับเข้าเรียนในโรงเรียนดังเดิมโดยเร็วที่สุด

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ตนได้แสดงความยินดีในโอกาสเปิดตัวศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอแห่งใหม่ ในไทย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ และศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งเสริมให้ทั้ง 2 ศูนย์มีบทบาทสนับสนุนพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนผลักดันการดำเนินงานด้านการศึกษาให้สอดรับกับความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 และเชื่อมั่นว่า ศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอทั้ง 6 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์ซีมีโอไรเฮด ศูนย์ซีมีโอสปาฟา ศูนย์ซีมีโอทรอปเมด ศูนย์ซีมีโอเซฟส์ ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด และเครือข่ายซีมีโอทรอปเมด จะสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้อย่างเต็ม

ข้อมูลน่ารู้

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ
(Southeast Asian Ministers of Education Organization : SEAMEO)

ปัจจุบันองค์การซีมีโอมีสมาชิก (Member Country) รวม 11 ประเทศ คือ

1. บรูไน ดารุสซาลาม

2. กัมพูชา

3. อินโดนีเซีย

4. ลาว

5. มาเลเซีย

6. สหภาพพม่า

7. ฟิลิปปินส์

8. สิงคโปร์

9. ไทย

10. เวียดนาม

11. ติมอร์ เลสเต 

มีสมาชิกสมทบ (Associate Member) 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เยอรมัน นอร์เวย์ และสเปน และมีหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ (Affiliate Member) 1 แห่ง คือ สภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล (International Council on Distance Education : ICDE) และมี Partner country คือ ญี่ปุ่น

ที่มา
https://www.seameo.org/w5
https://moe360.blog/2021/05/05/treenuch-seameo/
https://www.bic.moe.go.th/index.php/component/k2/itemlist/category/163-seameo

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

บทความยอดนิยม

บทความล่าสุด